หน่วยวิจัยสุขภาพหนึ่งเดียว
Head of One Health Research Unit
ผศ.น.สพ.ดร.ณฐพล ภูมิพันธุ์
หัวหน้าหน่วยวิจัยสุขภาพหนึ่งเดียว
ผู้ร่วมหน่วยวิจัย
รศ.ดร.ธวัดชัย ธานี
สังกัด คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหาสารคาม
ผศ.ดร.เพ็ญแข ธรรมเสนานุภาพ
สังกัด คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหาสารคาม
รศ.ดร.สุภาวดี ปิระเต
สังกัด คณะสัตวแพทยศาสตร์
หลักการและเหตุผล
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ โลกของเราต้องประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งได้คร่าชีวิตประชากรโลกไปเป็นจำนวนมาก และยังไม่สามารถคาดการณ์ได้แน่ชัดว่าการระบาดจะยุติลงเมื่อใดหรือจะเกิดโรคใหม่ๆระบาดขึ้นอีกเมื่อใด ซึ่งตัวอย่างเช่นเชื้อไวรัส SARS-COV-2 ที่ก่อโรค COVID-19 นั้นก่อให้เกิดอาการอักเสบของปอดอย่าง รุนแรง และยังคงกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่องและกระจายจากทวีปหนึ่งข้ามไปอีกทวีปหนึ่งอย่างรวดเร็ว COVID-19 เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของโรคที่เกิดขึ้นโดยมีสัตว์เป็นตัวรังโรค natural host และเป็นพาหะที่สำคัญนำโรคมาสู่คนดังกล่าว และปัจจัยต่างๆ เช่น สภาพแวดล้อม รวมถึงชนิดของ host ที่แตกต่าง ทำให้เชื้อไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศนี้ทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม มีความเกี่ยวพันธ์กัน การเปลี่ยนแปลงแบบพลวัตเกิดแบบเชื่อมโยงกันอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ในปัจจุบัน ทั่วโลกจึงมีการตระหนักถึงการระบาดของโรคติดต่อระหว่างสัตว์และนุษย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการติดต่อของโรคดังกล่าวมากขึ้นดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น นอกจากนั้นยังพบว่าโรคติดเชื้อในมนุษย์ร้อยละ 60 เกิดจากสัตว์ทั้งสัตว์เลี้ยงและ สัตว์ป่า และโรคอุบัติใหม่ที่ก่อให้เกิดอันตรายในมนุษย์ ร้อยละ 75 เกิดจากสัตว์เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสัตว์ป่า ดังนั้นปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่รวมถึงโรคอุบัติซ้ำที่เกิดขึ้นนั้น ทุกภาคส่วนต้องหาแนวทางการทำงานร่วมกันเพื่อการแก้ปัญหาและรับมือกับโรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้สำหรับในประเทศไทย นอกจาก COVID-19 แล้ว โรคติดต่อระหว่างสัตว์และมนุษย์นับเป็นปัญหาโดยมีทั้งโรคประจำถิ่นและโรค ที่เกิดขึ้นใหม่หรือโรคอุบัติใหม่ เช่น โรคพิษสุนัขบ้า โรคไข้หวัดนก โรคที่เกิดจากเชื้อเมลิออยโดชิส โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจาก เชื้อ Streptococcus suis โรคที่เกิดจากพยาธิโปรโตซัว และโรควัณโรคในสัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบปัญหาด้านสารตกค้าง การดื้อยาและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ อาหารที่ได้จากสัตว์ ปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้มีการระบาดของโรคติดต่อระหว่างสัตว์และมนุษย์เพิ่มมากขึ้น คือ การเร่งเพิ่มผลผลิตจากสัตว์เพื่อตอบสนองต่อความ ต้องการในการบริโภคของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่นพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์แปลก สัตว์ป่า การทำฟาร์มสัตว์ป่า การบริโภคอาหารที่มาจากป่า การทำกิจกรรมท่องเที่ยวในป่า ความใกล้ชิดระหว่างคนกับป่า เช่นในกรณีของลิงแสมในประเทศไทย ที่สามารถปรับตัวและแพร่พันธุ์ได้ในสภาพแวดล้อมที่กลายเป็นกึ่งป่ากึ่งเมือง จึงทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับลิงมากขึ้น จึงเกิดปัญหาเช่น ลิงเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตร คนโกรธแล้วทำร้ายลิง ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ รวมถึงความเป็นไปได้ของการส่งผ่านเชื้อโรคระหว่างคนกับลิงและก่อให้เกิดโรคอุบัติใหม่จากลิงแสม ซึ่งเป็น model ที่ดีต่อการศึกษาวิจัย ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ พร้อมกับหาแนวทางและพัฒนาวิธีการจัดการที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดความสมดุลด้านสุขภาพแบบองค์รวม หรือสุขภาพหนึ่งเดียว นอกจากนั้นปัจจัยด้านภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น น้ำท่วมและไฟไหม้ป่าอย่างรุนแรง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม หากสิ่งแวดล้อมไม่ดีจะเป็นสาเหตุให้สัตว์เกิดการเจ็บป่วยขึ้น ซึ่งก็จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรงดังนั้นการดูแลระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อม ก็ถือได้ว่าเป็นการดูแลสุขภาพของมนุษย์ไปด้วย รวมไปถึงการป้องกันและการควบคุมโรคในสัตว์มีความสำคัญยิ่งเพื่อป้องกันการติดต่อ มายังมนุษย์ กล่าวคือการทำให้สัตว์มีสุขภาพที่ดีพร้อมทั้งให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีก็จะทำให้สุขภาพของมนุษย์ดีไปด้วย หากกล่าวโดยสรุปทั้งหมดนี้ จึงนับเป็นระบบสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ที่จำเป็นต้องได้ รับความร่วมมือและมีการพัฒนาความร่วมมือในการปฏิบัติงานร่วมกันของสหวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันทั้งในด้านสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมของทุกภาคส่วนและทุกระดับ ซึ่งสามารถเริ่มต้นในได้ระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความพร้อมในด้านของความเชี่ยวชาญของอาจารย์แต่ละสาขาวิชาชีพ ทั้งนี้เพื่อช่วยกันบูรณาการแก้ปัญหาด้วยแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อควบคุมและป้องกันโรคติดต่ออุบัติใหม่ หรืออุบัติซ้ำ รวมถึงโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน พัฒนางานวิจัย สมรรถนะหรือขีดความสามารถของอาจารย์และนักวิจัยที่ทำงานตามแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว และเพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างคณะ ระหว่างศาสตร์ทางวิชาการแขนงต่าง ๆ ในด้านที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางด้านวิชาการต่อไป